(ความเป็นมา การพัฒนา และบทบาทการศึกษาหลังปริญญาของอายุรแพทย์)
อายุรแพทย์ เป็นแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคทางอายุรกรรม อันเป็นโรคหรือความผิดปกติของระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ด้วยการให้คำแนะนำ ยา และทำหัตถการที่จำเป็นในการวินิจฉัยและรักษาดังกล่าว รวมทั้งให้การสร้างเสริมสุขภาพ แก่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
วิชาอายุรศาสตร์ คือวิชาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย และการรักษาด้วยยา เพื่อบำบัดโรคและความผิดปกติของระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ในประเทศไทยปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) มีสาขา อนุสาขา และการฝึกอบรมเฉพาะด้านต่าง ๆ ทางอายุรศาสตร์ ดังต่อไปนี้
1. สาขา อนุสาขา และการฝึกอบรมเฉพาะด้านที่ออกหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรม โดยแพทยสภา ได้แก่ สาขาตจวิทยา สาขาประสาทวิทยา สาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา สาขาอายุรศาสตร์โรคเลือด อนุสาขาโภชนศาสตร์คลินิก อนุสาขาเวชบำบัดวิกฤต อนุสาขาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยา อนุสาขาอายุรศาสตร์การนอนหลับ อนุสาขาอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม อนุสาขาอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคไต อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด ด้านการทำหัตถการทางทรวงอกและหลอดลม ด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในผู้ใหญ่ ด้านเลเซอร์และหัตถการทางผิวหนัง และด้านอายุรเวชพันธุศาสตร์
2. อนุสาขาและการฝึกอบรมเฉพาะด้านที่ออกประกาศนียบัตรโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ อนุสาขาประสาทวิทยาโรคลมชัก อนุสาขาประสาทวิทยาโรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ อนุสาขาหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด อนุสาขาอายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก และอนุสาขาอายุรศาสตร์โรงพยาบาล
อายุรศาสตร์เป็นศาสตร์ดั้งเดิมของกิจการแพทย์ไทย สมัยก่อนผู้เชี่ยวชาญทางสาขาวิชานี้ได้ร่ำเรียนจากต่างประเทศ จนกระทั่งแพทยสภาได้กำหนดให้มีการฝึกอบรมและสอบผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาวิชาอายุรศาสตร์ในประเทศไทยขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 หลังจากนั้นจำนวนผู้เข้าฝึกอบรมและสอบก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นับว่าเป็นสาขาวิชาที่ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาก และมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
ปี พ.ศ. 2526 ก่อตั้งวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระมหากรุณาให้ วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยใช้ชื่อว่า "ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย"
ปี พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ปี พ.ศ. 2531 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน ทูลเกล้าถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ปี พ.ศ. 2539 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ปี พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
ปี พ.ศ. 2542 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปีนานาชาติของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ในหัวข้อ Geriatric Medicine
วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 นับเป็นวิทยาลัยที่สองหลังจากการตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งได้รับการจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 กิจการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากจนถึง พ.ศ. 2528 วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงรับวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ "ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย" ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้บริหารเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายครุยสมาชิกกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นสมาชิกราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นพระองค์แรกและเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2534 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์เป็นพระองค์ที่ 2 ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์อีกพระองค์หนึ่ง แต่คณะกรรมการบริหารยังไม่ได้เข้าเฝ้าถวายพระอภิไธยสมาชิก พระองค์ท่านได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2538, พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2539 ตามลำดับ นับเป็นเกียรติและมงคลสูงสุดที่ทรงมีพระเมตตาพระราชทานแก่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ มวลสมาชิกรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นกำลังใจสำคัญเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้สมาชิกของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ประกอบคุณงามความดีตามรอยพระยุคลบาทและเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่านสืบต่อไป
OKRs ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ฯ วาระปีพุทธศักราช 2567-2569
มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ฯ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567
กำหนด Objectives and Key Results (OKRs) วาระปี พ.ศ. 2567 -2569 ดังนี้